เวลา...เป็นสิ่งเดียวในโลก ที่ทุกคนได้รับเสมอกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันเลยแม้แต่คนเดียว ..แต่ใครจะใช้เวลาในแต่ละวินาทีอย่างมีค่า และคุ้มค่ากว่ากัน..นี่แหละ..เป็นเรื่องน่าคิด

หยุดคิดสักนิด...ก่อนที่จะสายเกินไป

ใครมีเรื่องราวดีๆ ประสบการณ์ต่างๆในชีวิต ที่สามารถใช้เป็นบทเรียน เป็นตัวอย่างในการสอนน้องๆ
เพื่อเป็นข้อคิด เตือนใจ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ก็ขอเชิญส่งกันมาได้นะคะ

ประเมินผลอย่างไร...ไม่เครียด

ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้ระบุถึงวิธีการประเมินการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ว่า ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผลผู้เรียน โดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอน ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา นอกจากนั้นการประเมินผลผู้เรียนยังต้องเกี่ยวข้องกับหลักการสำคัญคือ ใช้วิธีการที่หลากหลายในการประเมินผู้เรียน ใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาต่อ จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า ครูผู้สอนจะต้องใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย และเปิดกว้างทางความคิด เพราะการประเมินผลในปัจจุบันเป็นการประเมินผลเพียงเนื้อหาที่อยู่ในบทเรียนเท่านั้น ไม่มีการเปิดโอกาสให้พวกเราได้ใช้ความคิดเท่าที่ควร สอบแล้วตัดสินเลยว่าได้ หรือตก คนที่สอบตก ถ้าผู้ปกครองทราบ บางคนอาจโดนทำโทษซ้ำอีก พวกเราจึงเกิดความเครียด กลัวการสอบตกมากกว่าการไม่มีความรู้ความสามารถเสียอีก การประเมินผลในอนาคตควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ ๑) ควรมีการประเมินจากพฤติกรรมในการเรียนของเราด้วย เช่น ความกระตือรือร้น ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คุณธรรม จริยธรรม โดยครูใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การพูดคุย การสอบถาม การสัมภาษณ์ เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมุลที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ๒) ข้อสอบควรมีลักษณะที่หลากหลายทั้งปรนัยและอัตนัยและควรมีทุกแนว เช่น ความรู้ความจำ การวิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ หากเป็นข้อสอบแบบปรนัยควรเปิดโอกาสให้พวกเราได้แสดงเหตุผลว่า ทำไมจึงเลือกตอบตัวเลือกนี้ ถึงแม้ว่าคำตอบจะไม่ตรงกับเนื้อหาในตำราเรียนหรือที่ครูสอน แต่มีการอ้างเหตุผลที่ดีก็น่าจะได้คะแนนด้วย ๓) ควรมีการประเมินผลจากการสอบปากเปล่าด้วย เพราะบางคนถนัดการพูดแต่ไม่ถนัดการเขียน เพราะฉะนั้นควรมีการประเมินผลโดยใช้วิธีนี้ด้วยเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ๔) การประเมินผลงานควรให้บุคคล 4 กลุ่มเป็นผู้ประเมินคือ ตัวเราเอง เพื่อน ครูผู้สอน และบุคคลภายนอก โดยอาจจะเป็นครูท่านอื่นหรือผู้ปกครองก็ได้ ๕) ทุกครั้งที่มีการประเมินผลควรมีการวิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะในทางที่สร้างสรรค์ด้วย ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินก็ควรจะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แบบ และทำใจเป็นกลางให้มากที่สุดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง เพื่อพวกเราจะได้นำไปใช้ในการปรับปรุงตัวให้ถูกต้องต่อไป นอกจากการประเมินโดยผู้อื่นแล้ว การประเมินตนเอง ของผู้เรียนก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ วิธีที่สามารถประเมินว่าเราเข้าใจเรื่องที่เรียนแล้วหรือไม่คือ ๑) ทบทวนเนื้อหาของเรื่องนั้น ๆ ด้วยการพูดหรืออธิบายให้ผู้อื่นฟัง วิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเนื้อหา คิดในเชิงสร้างสรรค์ ถ้าสามารถทำได้แสดงว่าเข้าใจเนื้อหาแล้ว ๒) ทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุดโดยทำข้อสอบในทุก ๆ ประเภท ทุกลักษณะ ๓) การสอนและอธิบายเพื่อนได้อย่างเข้าใจและถูกต้องด้วยเมื่อเพื่อนขอความช่วยเหลือ สามารถตอบข้อสงสัยของเพื่อนได้อย่างชัดเจนในทุกประเด็น ๔) เรื่องใดที่ต้องอาศัยการปฏิบัติก็จะลงมือปฏิบัติจริง ถ้ายังประสบปัญหาอยู่แสดงว่ายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ๕) ประเมินจากการทำข้อสอบหรือการทดสอบของครู ๖) สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี ๗) สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาที่สูงขึ้น ละเอียดขึ้นหรือยากขึ้นได้อย่างดี แต่ใช่ว่าการที่เราเข้าใจในบทเรียนนั้นดีแล้ว เราจะไม่ต้องทบทวนในบทเรียนอีก เราควรที่จะกลับมาทบทวนในบทเรียนเก่า ๆ อยู่เสมอเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำและความเข้าใจนั้นให้อยู่คู่กับตนองตลอดไป การประเมินผลที่ดีคือการที่ทำให้เรารู้ตนเองว่า เรารู้ เข้าใจ ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร รู้ว่าเรายังบกพร่องตรงไหน และต้องปรับปรุงเรื่องอะไรอีกบ้าง

จาก เรียนอย่างนี้...มีความสุข : บันทึกของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. ๒๕๔๔. หน้า ๒๒ - ๒๕

การเรียนการสอนยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เสริมสร้างหรือทำลายการศึกษา

กองบรรณาธิการ รายงานปฏิรูปการศึกษาไทย

ด้วยความสับสนและลักลั่นในความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่ายึดผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงนำไปสู่ข้อผิดพลาดอันอาจจะก่อให้เกิดการทำลายคุณภาพของการศึกษา เช่น ครูบางคนปล่อยให้ผู้เรียนเรียนตามลำพัง กิจกรรมหนักไปทางการศึกษา ค้นคว้าจากหนังสือและสื่อต่าง ๆ ตามความสนใจ จนบางครั้งคล้ายกับไร้ทิศทาง ไร้มาตรฐาน ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กองบรรณาธิการจึงขอนำบทความของ ดร.สงบ ลักษณะ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้แยกประเด็นต่าง ๆ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ พร้อมกันนี้ยังได้ฝากบอกมาว่า ครูจะต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อ ความคิด และวิธีปฏิบัติบางประการ จากความคิดเดิมเป็นความคิดใหม่ เมื่อนั้นการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญจึงจะได้ผลสูงสุด ความคิดเดิมมุ่งไปที่การดูว่าครูมีวิธีสอนที่ทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเน้นการคิดเอง ปฏิบัติเอง แต่ความคิดใหม่ความสำเร็จอยู่ที่ผลลัพธ์ของผู้เรียน คือผู้เรียนทุกคนมีผลการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามความมุ่งหมายของหลักสูตร แม้ผู้เรียนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน แต่ครูมีฝีมือที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุผลตามที่พึงปรารถนาได้ ความคิดเดิมเชื่อว่า ผู้เรียนมีความสามารถต่างกันจึงมีผลการเรียนไม่เท่ากัน แต่ความคิดใหม่ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เท่ากัน ถ้าครูจัดวิธีการเรียนให้เหมาะกับความสามารถของเขา ความคิดเดิม ผู้เรียนเรียนรู้จากการอ่าน การฟัง การฝึก และการจดจำ แต่ความคิดใหม่ ผู้เรียนเรียนรู้จากได้รับประสบการณ์จากแหล่งต่าง ๆ จากการค้นคว้า ทดลอง ปฏิบัติ สอบถามผู้รู้ วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ความคิดเดิม ผลการเรียนคือความรู้ที่แสดงออกด้วยการจดจำความจริง กฎ เกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นเนื้อหา แต่ความคิดใหม่คือความสมดุลของความรู้ ความคิด ความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้ การแก้ปัญหา การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นต้น ความคิดเดิม ครูมีกระบวนการสอนที่เป็นมาตรฐานตามตัวใช้กับผู้เรียนทุกคน แต่ความคิดใหม่ ครูรู้จักจุดเด่นจุดด้อยผู้เรียนรายบุคคล ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย ความคิดเดิม ปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมเรียนรู้ตามลำพัง ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ความคิดใหม่ครูทำหน้าที่พี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ ร่วมวางแผน ติดตามผลการทำกิจกรรม ความคิดเดิม การวัดผลประเมินผลมีจุดอ่อนในการยึดเพียงเนื้อหาตามตำรา แต่ความคิดใหม่เน้นการติดตามผลการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคลตลอดเวลา ใช้วิธีการวัดและการประเมินมีหลายอย่าง ทั้งการประเมินจากพฤติกรรม ผลงาน ข้อสอบ เป็นต้น หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ที่ความเป็นครูมืออาชีพที่มุ่งมั่น คิดค้น แสวงหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีความสำเร็จในการเรียนรู้เต็มศักยภาพ ครบถ้วนตามมาตรฐาน โดยใช้พื้นฐานของความรักและความเมตตาที่ครูมีต่อผู้เรียนทุกคนอย่างแท้จริง ขอขอบคุณกับบทความดี ๆ แบบนี้ ที่ได้วิเคราะห์ออกมาให้เห็นในแง่มุมต่าง ๆ หวังว่าสาระที่ผู้อ่านได้รับจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางให้กับตัวเองนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

รายงานปฏิรูปการศึกษาไทย. ปีที่ 3 ฉบับที่ 46. 15 ตุลาคม 2544.

เวลานั้นสำคัญไฉน

โชคชัย แซ่เฮ็ง
เราสามารถสัมผัสได้ถึงการผ่านพ้นไปของเวลาได้ด้วยประสบการณ์และการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบข้าง เรารู้สึก คิด และอยู่ภายใต้การเคลื่อนที่ของเวลา อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวไว้ว่า "มิติ และเวลา สามารถรับรู้ด้วยความคิด ไม่ใช่เพราะเราเป็นอยู่" ดังนั้น การที่เรารู้จักค่าของเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของนาฬิกา หรือปฏิทิน ถือเป็นสิ่งที่มนุษย์ค้นพบ การวัดค่าของเวลา เป็นศาสตร์มาตั้งแต่อารยธรรมโบราณ ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน มนุษย์โครมันยอง รู้จักสังเกตและบันทึกการเปลี่ยนแปลงดิถีของดวงจันทร์ตั้งแต่ราว ๓๐,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ในขณะที่หน่วยของเวลาเพิ่งเริ่มต้นนับได้อย่างแม่นยำราว ๔๐๐ ปีที่ผ่านมา และนาฬิกาอะตอมซึ่งให้ความแม่นยำในระดับ ๑ ใน ล้านของวินาทีเพิ่งจะมีไม่ถึง ๕๐ ปีเท่านั้น การกำหนดเทียบเวลานั้นเป็นทั้งเลนส์ที่ส่องถึงปรากฏการณ์ที่มนุษย์สังเกตเห็นบนฟากฟ้า และยังเป็นทั้งกระจกที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ เป็นเวลากว่าพันปีแล้วที่มนุษย์พยายามที่จะหาหน่วยสำหรับการวัดและสอบเทียบเวลา จะเห็นได้ว่าสิ่งนั้นไม่ว่าจะเป็นอุปกรณือะไรก็แล้วแต่ ล้วนมีความหมายที่จะพยายามเทียบเกณฑ์ดังกล่าวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีการเคลื่อนที่เป็นรอบหรือวัฎจักรทั้งสิ้น สิ่งแวดล้อมนั้นอาจเป็นได้ทั้งโลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดาวฤกษ์ ขึ้นกับว่าอารยธรรมหรือยุคสมัยนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่า
ยุคอียิปต์โบราณ
ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ เมื่อครั้งที่มนุษย์นับถือดวงอาทิตย์และท้องฟ้าเป็นพระเจ้า ชาวอียิปต์ได้สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์รอบโลกกับการท่วมตลิ่งของแม่น้ำไนล์ในแต่ละปี ซึ่งเป็นสัญญาณเข้าสู่ฤดูกาลใหม่นั้น ชาวอียิปต์สามารถนับวันได้เท่ากัน ๓๖๕ วันต่อรอบ ถือเป็นต้นกำเนิดของช่วงเวลา ๑ ปีมีค่าเท่ากับ ๓๖๕ วันขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาการสังเกตดังกล่าวได้ละเอียดขึ้นเมื่อชาวอียิปต์ได้เริ่มสังเกตการเคลื่อนที่ของดาวโจร หรือดาวซีริอัส ซึ่งเป็นดาวที่สุกสว่างตอนกลางคืน และพบว่า ในวันที่ครบรอบปีในแต่ละปีนั้น ดาวซีริอัสจะเคลื่อนที่มาช้ากว่าเดิมไปประมาณ ๖ ชั่วโมง หรือประมาณ ๑ ใน ๔ วันต่อปี ดังนั้น ชาวอียิปต์จึงได้ปรับปรุงให้ ๑ ปี มีค่าเพิ่มขึ้นเป็น ๓๖๕.๒๕ วัน นอกจากนี้ราว ๑,๖๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช ชาวอียิปต์ได้สร้างนาฬิกาแดดขึ้นเพื่อใช้บอกเวลาในแต่ละวัน โดยอ้างอิงเวลากับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์รอบโลกในแต่ละวัน แต่นาฬิกาแดดก็มีข้อจำกัดที่จะใช้งานได้ก็ต่อเมื่อมีแสงแดดเท่านั้น และนาฬิกาแดดที่สร้างขึ้นจากที่หนึ่งไม่สามารถใช้อ้าอิงกับอีกสถานที่หนึ่งได้ อ่านต่อคลิก

กงล้อแห่งความดี

ส่วนขอบรอบนอกของล้อรถหรือล้อเกวียน เรียกว่า "กง" สมัยก่อนกงล้อเกวียนทำด้วยไม้หลายชิ้นมาต่อกันเข้าเป็นวงกลม แต่ละชิ้นมีความแข็งแรงและถูกตรึงเป็นเนื้อเดียวกันด้วยสลัก คุณภาพของกงล้อย่อมเกิดจากคุณภาพของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่นำมา ต่อตรึงเข้าด้วยกันอย่างมีคุณภาพ
"กงล้อของความเป็นครู" จะมีคุณภาพได้ก็ต้องอาศัยความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพของ "ชิ้นส่วน" ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ ชิ้นส่วนกงล้อของความเป็นครูดีประกอบด้วย
1. คุณสมบัติดี คือ มีคุณสมบัติและคุณลักษณะดี เช่น ความรู้ ความสามารถ บุคลิกภาพ สุขภาพ คุณวุฒิ นิสัย วิสัยทัศน์ ค่านิยม คุณธรรมประจำตัว ประจำใจของครูแต่ละคน
2. ปฏิบัติตนดี คือ เป็นพลเมืองดีและปฏิบัติตามจรรยาบรรณครู
3. ปฏิบัติงานดี คือ วางแผนดี สอนดี แนะแนวดี จัดกิจกรรม การเรียนรู้ดี ปกครองดี ประเมินผลดี ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจดี และเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์ทุกคน
4. ผลงานดี คือ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ฉลาด คิดเป็น เก่ง เป็นคนดี มีวินัย มีความสุข พึ่งตนเองได้
5. สวัสดิการดี คือ ได้รับผลตอบแทนเป็นสวัสดิการและความก้าวหน้าทางอาชีพอย่างเหมาะสมกับการปฏิบัติและผลงานที่เกิดขึ้น
6. ศักดิ์ศรีดี คือ ได้รับการยกย่องและให้เกียรติจากผู้ร่วมงาน ชุมชนและสังคมว่าเป็นผู้มีคุณค่าต่อชุมชน สังคมและประเทศ
ชิ้นส่วนทั้ง 6 นี้ ประกอบกันเข้าเป็นวงล้อแห่งความ
เป็นครูดี ไม่ต้องถามว่าจะเริ่มจากชิ้นส่วนใดก่อน เพราะมีหลายชิ้น ซึ่งสามารถเริ่มและดำเนินไปพร้อม ๆ กันได้

จาก เส้นทางปฏิรูปการศึกษาไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 14 วันที่ 5 ตุลาคม 2542