เมาเพศ หมดราคา
เมาสุรา หมดสำคัญ
เมาการพนัน หมดตัว
เมาเพื่อชั่ว หมดดีฯ
หลักธรรมสำหรับพัฒนาตนเองให้มีความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวทีและสามัคคี
จุดประสงค์ เมื่อศึกษาเรื่องหลักธรรมสำหรับพัฒนาตนเองให้มีความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวที และสามัคคี จบแล้ว นักศึกษาสามารถ
1. บอกความหมายและความสำคัญของความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวที และสามัคคีได้ถูกต้อง
2. อธิบายความต้องการและความจำเป็นของสังคมไทยที่ต้องมีสมาชิกของสังคมที่มีความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวที และสามัคคีได้อย่างมีเหตุผล
3. บอกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติสำหรับพัฒนาตนเองให้มีความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวที และสามัคคีได้ถูกต้อง
4. ระบุข้อปฏิบัติของหลักธรรมสำหรับพัฒนาตนเองให้มีความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวที และสามัคคีได้ถูกต้องครบถ้วน
ความหมายของความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวที และสามัคคี
ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2542 (2546: 1223, 872,70, 6, 1178) อธิบายว่า “เสียสละ” หมายถึงการให้โดยยินยอมให้ด้วยความเต็มใจ ตรงกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาว่า “ทาน” และคำนี้มีปรากฎอยู่ในหลักธรรมคำสอนหลายหลักธรรมคำสอน
“เมตตากรุณา” หมายถึงความรัก ความเอ็นดู ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้สุข และคำว่า“กรุณา” หมายถึง ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เป็นข้อปฏิบัติใน หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่จะทำให้มนุษย์กลายเป็นพระพรหมเรียกว่า “พรหมวิหาร”
“กตัญญู” หมายถึง ผู้รู้ในอุปการะคุณที่ท่านทำให้ คือรู้คุณท่าน เป็นคำที่คู่กันกับคำว่า “กตเวที” ซึ่งหมายถึงการสนองคุณท่าน หรือ ผู้ประกาศคุณท่าน
“สามัคคี” หมายถึง ความพร้อมเพรียง ความปรองดองกัน ร่วมมือร่วมใจกันทำ
ความสำคัญของความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวทีและสามัคคี
สังคมไทยเป็นสังคม ที่ต้องการความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ และสิ่งที่จะช่วยให้เกิดสิ่งที่สังคมปรารถนาได้ ก็คือ หลักธรรมเกี่ยวกับความเสียสละ เมตตากรุณา กตัญญูกตเวที และสามัคคีนั่นเอง
ในหลักธรรมที่กล่าวมาแล้ว เป็นหลักธรรมที่ต้องเริ่มปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาตนเอง ให้เป็นบุคคลที่มีความงามเป็นเบื้องต้นในทางกาย ทางวาจา และทางใจ ส่วนหลักธรรมที่จะกล่าวต่อไปเป็นหลักธรรมที่จะต้องนำไปปฏิบัติแก่สังคม การที่ต้องเริ่มต้นจากตนเองก็เพราะ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้คนพึ่งตนเอง ดังสุภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และสุภาษิตคำกลอนที่ว่า
ตนเตือนใจของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน คนแชเชือนใครจะช่วยให้ป่วยการ
ดังนั้น เมื่อสามารถเตือนตน รักษาตนให้อยู่ในกรอบของศีล ดีแล้ว จึงควรมองดูผู้อื่น และทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยการเสียสละ มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น สัตว์อื่น มีความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีอุปการะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กตัญญูต่อแผ่นดิน และสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคม หลักธรรมนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น