เวลา...เป็นสิ่งเดียวในโลก ที่ทุกคนได้รับเสมอกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันเลยแม้แต่คนเดียว ..แต่ใครจะใช้เวลาในแต่ละวินาทีอย่างมีค่า และคุ้มค่ากว่ากัน..นี่แหละ..เป็นเรื่องน่าคิด

ประเมินผลอย่างไร...ไม่เครียด

ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้ระบุถึงวิธีการประเมินการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ว่า ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผลผู้เรียน โดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอน ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา นอกจากนั้นการประเมินผลผู้เรียนยังต้องเกี่ยวข้องกับหลักการสำคัญคือ ใช้วิธีการที่หลากหลายในการประเมินผู้เรียน ใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาต่อ จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า ครูผู้สอนจะต้องใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย และเปิดกว้างทางความคิด เพราะการประเมินผลในปัจจุบันเป็นการประเมินผลเพียงเนื้อหาที่อยู่ในบทเรียนเท่านั้น ไม่มีการเปิดโอกาสให้พวกเราได้ใช้ความคิดเท่าที่ควร สอบแล้วตัดสินเลยว่าได้ หรือตก คนที่สอบตก ถ้าผู้ปกครองทราบ บางคนอาจโดนทำโทษซ้ำอีก พวกเราจึงเกิดความเครียด กลัวการสอบตกมากกว่าการไม่มีความรู้ความสามารถเสียอีก การประเมินผลในอนาคตควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ ๑) ควรมีการประเมินจากพฤติกรรมในการเรียนของเราด้วย เช่น ความกระตือรือร้น ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คุณธรรม จริยธรรม โดยครูใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การพูดคุย การสอบถาม การสัมภาษณ์ เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมุลที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ๒) ข้อสอบควรมีลักษณะที่หลากหลายทั้งปรนัยและอัตนัยและควรมีทุกแนว เช่น ความรู้ความจำ การวิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ หากเป็นข้อสอบแบบปรนัยควรเปิดโอกาสให้พวกเราได้แสดงเหตุผลว่า ทำไมจึงเลือกตอบตัวเลือกนี้ ถึงแม้ว่าคำตอบจะไม่ตรงกับเนื้อหาในตำราเรียนหรือที่ครูสอน แต่มีการอ้างเหตุผลที่ดีก็น่าจะได้คะแนนด้วย ๓) ควรมีการประเมินผลจากการสอบปากเปล่าด้วย เพราะบางคนถนัดการพูดแต่ไม่ถนัดการเขียน เพราะฉะนั้นควรมีการประเมินผลโดยใช้วิธีนี้ด้วยเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ๔) การประเมินผลงานควรให้บุคคล 4 กลุ่มเป็นผู้ประเมินคือ ตัวเราเอง เพื่อน ครูผู้สอน และบุคคลภายนอก โดยอาจจะเป็นครูท่านอื่นหรือผู้ปกครองก็ได้ ๕) ทุกครั้งที่มีการประเมินผลควรมีการวิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะในทางที่สร้างสรรค์ด้วย ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินก็ควรจะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แบบ และทำใจเป็นกลางให้มากที่สุดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง เพื่อพวกเราจะได้นำไปใช้ในการปรับปรุงตัวให้ถูกต้องต่อไป นอกจากการประเมินโดยผู้อื่นแล้ว การประเมินตนเอง ของผู้เรียนก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ วิธีที่สามารถประเมินว่าเราเข้าใจเรื่องที่เรียนแล้วหรือไม่คือ ๑) ทบทวนเนื้อหาของเรื่องนั้น ๆ ด้วยการพูดหรืออธิบายให้ผู้อื่นฟัง วิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเนื้อหา คิดในเชิงสร้างสรรค์ ถ้าสามารถทำได้แสดงว่าเข้าใจเนื้อหาแล้ว ๒) ทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุดโดยทำข้อสอบในทุก ๆ ประเภท ทุกลักษณะ ๓) การสอนและอธิบายเพื่อนได้อย่างเข้าใจและถูกต้องด้วยเมื่อเพื่อนขอความช่วยเหลือ สามารถตอบข้อสงสัยของเพื่อนได้อย่างชัดเจนในทุกประเด็น ๔) เรื่องใดที่ต้องอาศัยการปฏิบัติก็จะลงมือปฏิบัติจริง ถ้ายังประสบปัญหาอยู่แสดงว่ายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ๕) ประเมินจากการทำข้อสอบหรือการทดสอบของครู ๖) สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี ๗) สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาที่สูงขึ้น ละเอียดขึ้นหรือยากขึ้นได้อย่างดี แต่ใช่ว่าการที่เราเข้าใจในบทเรียนนั้นดีแล้ว เราจะไม่ต้องทบทวนในบทเรียนอีก เราควรที่จะกลับมาทบทวนในบทเรียนเก่า ๆ อยู่เสมอเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำและความเข้าใจนั้นให้อยู่คู่กับตนองตลอดไป การประเมินผลที่ดีคือการที่ทำให้เรารู้ตนเองว่า เรารู้ เข้าใจ ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร รู้ว่าเรายังบกพร่องตรงไหน และต้องปรับปรุงเรื่องอะไรอีกบ้าง

จาก เรียนอย่างนี้...มีความสุข : บันทึกของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. ๒๕๔๔. หน้า ๒๒ - ๒๕

ไม่มีความคิดเห็น: